March 29, 2024

All Honda Prelude Generations

พรีลูด

ฮอนด้า พรีลูด (Honda Prelude) เป็นรถสปอร์ตขนาดเล็ก (Sport Compact) ของฮอนด้า ผลิตในช่วง พ.ศ. 2521 – พ.ศ. 2544 มีตัวถังรูปแบบเดียว คือแบบคูเป้ 2 ประตู แต่ตอนยุคหลังๆ ได้ปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นมาเป็นรถสปอร์ตขนาดกลาง และทดแทนรถสปอร์ตขนาดเล็กด้วยฮอนด้า อินทีกรา และฮอนด้า ซีอาร์เอกซ์ รถรุ่นที่ถือได้ว่าเป็นคู่แข่งทางการตลาด หรือใกล้เคียงกับฮอนด้า พรีลูด ได้แก่ โตโยต้า เซลิก้า, ฟอร์ด มัสแตง, นิสสัน ซิลเวีย, มิตซูบิชิ เอคลิปส์, นิสสัน 200 เอสเอ็กซ์, โอเปิล คาลิบรา ฯลฯ

ฮอนด้า พรีลูด แบ่งออกเป็น 5 Generation(โฉม) ตามช่วงเวลา ได้ดังนี้

Generation ที่ 1 (รุ่นปี พ.ศ. 2521 – 2526)

ฮอนด้า พรีลูด รุ่นที่ 1

รุ่นแรก มีการออกแบบผสมผสานระหว่าง ฮอนด้า ซีวิค และ ฮอนด้า แอคคอร์ด เข้าไปเล็กน้อย รุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในเครื่องยนต์แบบ SOHC และ CVCC 1751 ซีซี I4 ซึ่งจะให้กำลังที่แตกต่างกันไป ในรุ่นปีแรก (1978) จะเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ให้แรง 72 แรงม้า แรงบิด 127 นิวตันเมตร ในรุ่นปี 2522 พรีลูดมีการผลิตเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งในรุ่นนี้ จะมีเพียง 2 สปีด (Hondamatic) และให้แรง 68 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 2 สปีดนี้ ถูกใช้เพียงรุ่นปีเดียว และในรุ่นปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นไป พรีลูดเกียร์อัตโนมัติได้เปลี่ยนไปใช้ระบบเกียร์แบบ 4 สปีด แต่ในออสเตรเลีย และ สหราชอาณาจักร เครื่องยนต์ส่วนใหญ่ที่ขายได้จะเป็นเครื่องแบบ EL 1602 ซีซี ต่างจากในแถบญี่ปุ่น และนอกจากนี้ พรีลูดยังมีมูนรูฟ (หน้าต่างบนหลังคารถ) ด้วย

 

Generation ที่ 2 (รุ่นปี พ.ศ. 2526 – 2531)

ฮอนด้า พรีลูด รุ่นที่ 2

โฉมที่ 2 นี้ เครื่องยนต์ในช่วงแรกของโฉมจะเป็นเครื่องแบบ A18 1.8 ลิตร 12 วาล์ว เครื่องยนต์แบบ ทวิน คาร์บูเรเตอร์ 100 แรงม้า แต่ในรุ่นปี พ.ศ. 2528 ฮอนด้าได้เริ่มผลิตเครื่องยนต์แบบหัวฉีดมาใช้แทนคาร์บูเรเตอร์ โดยรถยนต์เครื่องหัวฉีดยุคแรกของพรีลูด จะใช้ชื่อเรียกว่ารุ่น Si ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทันสมัยในยุคนั้น เครื่องยนต์หัวฉีดรุ่นแรกๆ จะเป็นเครื่องยนต์ 2 ลิตร DOHC 16 วาล์ว PGM-FI 110 แรงม้า แต่ต่อมาก็มีเครื่องยนต์แบบ EDM 137 แรงม้า และ JDM-B20A 160 แรงม้าเข้ามาขาย ซึ่งระบบหัวฉีดก็เข้าขายในยุโรปใน พ.ศ. 2529 โฉมนี้ เป็นโฉมแรก ที่พรีลูด ใช้ไฟหน้าแบบ Pop-Up (ซ่อนไฟหน้าได้) ซึ่งโฉมนี้มีจุดเด่นที่ความแรง เพราะในโฉมที่ 2 นี้ น้ำหนักของรถมีเพียง 1,025 กิโลกรัม ในขณะที่เครื่องยนต์สามารถให้แรงได้เพิ่มขึ้นจากโฉมแรก ทำให้รถมีความแรงและทำความเร็วได้มากกว่า

Generation ที่ 3 (รุ่นปี พ.ศ. 2531 – 2535)

ฮอนด้า พรีลูด รุ่นที่ 3

โฉมที่ 3 นี้ มีความคล้ายคลึงกับโฉมที่ 2 มาก แต่ก็มีการผลิตเครื่องยนต์ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เข้ามาเป็นความแตกต่าง โฉมนี้ ยังมีการผลิตเครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์อยู่ แต่ส่วนใหญ่มีการผลิตเครื่องหัวฉีดควบคู่ไปด้วย ในช่วงแรก เครื่องคาร์บูเรเตอร์ 1958 ซีซี ให้แรง 104 แรงม้า และให้ทอร์ก 150 นิวตันเมตร ส่วนเครื่องหัวฉีดช่วงแรกของโฉม ให้แรง 135 แรงม้า ทอร์ก 172 นิวตันเมตร พอถึงรุ่นปี พ.ศ. 2533 ได้มีการใช้เทคโนโลยี PGM-FI ในเครื่องยนต์ของพรีลูด ทำให้แรงม้าในเครื่องพรีลูด เพิ่มไปตามระบบเครื่องยนต์ซึ่งมีหลายแบบ ซึ่งเครื่องที่ให้แรงสูงที่สุดของพรีลูดโฉมนี้ คือ 1958 ซีซี DOHC PGM-FI B20A7 ซึ่งให้แรงสูงสุด 150 แรงม้า

Generation ที่ 4 (รุ่นปี พ.ศ. 2535 – 2540)

ฮอนด้า พรีลูด รุ่นที่ 4

โฉมที่ 4 เริ่มมีการใช้เครื่องยนต์แบบ VTEC ในพรีลูด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแรง และความคุ้มค่าในการใช้เชื้อเพลิง แต่ในขณะเดียวกัน เครื่องระบบคาร์บูเรเตอร์ก็ยังผลิตอยู่ เครื่องยนต์แบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ เครื่องวางขวางขับเคลื่อนล้อหน้าแบ่งเป็นสี่ตัว คือ เครื่องหัวฉีดธรรมดา 2.0 ลิตร 133 แรงม้า , เครื่องคาร์บูเรเตอร์ 2.2 ลิตร 135 แรงม้า , เครื่องยนต์หัวฉีดธรรมดา 2.3 ลิตร 160 แรงม้า และเครื่องยนต์หัวฉีด VTEC 2.2(H22A) ลิตร 200 แรงม้า หรือที่เรียกว่า VTi-R หรือ Si-VTEC โฉมนี้ ยกเลิกการใช้ไฟหน้าแบบ Pop-Up และได้ออกแบบใหม่ให้ดูล้ำยุคมากขึ้น ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นผู้นำในขณะนั้นที่กล้าลบกระแสไฟป็อบอัพในรถสปอร์ต อีกทั้งยังนำเอาระบบขับเคลื่อนล้อหน้ามาใช้กับรถสปอร์ตอีกด้วย และได้เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ ลงไปอีกให้ทันยุคสมัยมากขึ้น ด้วยการมีซันรูฟ, ครูซคอนโทรล (ล็อกความเร็วอัตโนมัติ), ระบบเบรกเอบีเอส, ระบบเลี้ยวสี่ล้อในรุ่นวีเทค(VTEC), หน้าปัดออกแบบเป็นระบบดิจิตอล ฯลฯ รถรุ่นนี้ประสบความสำเร็จในด้านการตลาดอย่างมากในระดับรถสปอร์ตขนาดกลาง เนื่องจากมีเทคโนโลยีต่างๆ ในตัวรถอยู่พอสมควรทีเดียว แต่อาจจะมีข้อด้อยกว่ารถยนต์คู่แข่งในด้านการขับขี่ เนื่องจากเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า และในประเทศไทย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เคยสั่งนำเข้าฮอนด้า พรีลูดมาจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2535 ในยุคที่กระแสของรถนำเข้าโด่งดังจากการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ของ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน คู่แข่งในระดับเดียวกันในสมัยนั้นเช่น โตโยต้า เซลิก้า ,โตโยต้า พาซิโอ ,นิสสัน NX ,โอเปิล คาลิบรา ก็เป็นรถนำเข้่าเช่นเดียวกัน ยกเว้น Nissan NX Coupe

Generation ที่ 5 (รุ่นปี พ.ศ. 2540 – 2544)

ฮอนด้า พรีลูด รุ่นที่ 5

โฉมสุดท้ายนี้ ฮอนด้าออกแบบตัวถังพรีลูดให้ผสมผสานลักษณะของตัวถังรถในยุคปลายทศวรรษ 1990 โดยออกแบบบั้นท้ายของรถให้เรียวขึ้น และออกแบบไฟด้านหน้าใหม่ และเครื่องยนต์จะเน้นทันสมัยและประหยัด พรีลูดยกเลิกการผลิตเครื่องระบบหัวฉีดธรรมดา เครื่องยนต์ของพรีลูดในโฉมนี้ จะเป็นเครื่องระบบหัวฉีด VTEC DOHC (ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาร์ฟ) ซึ่งสามารถสร้างแรงบิดและแรงม้าได้มากเมื่อเทียบกับรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ (ซีซี) เท่ากัน พรีลูดที่ฮอนด้าขายนั้น ในช่วงรุ่นปี พ.ศ. 2540-2541 จะเป็นเครื่องยนต์หัวฉีด VTEC 2.2 ลิตร H22A 195 แรงม้า แต่พอถึงรุ่นปี 2542 ได้พัฒนาเครื่องยนต์เป็นเครื่องยนต์หัวฉีดแบบ VTEC 2.2 ลิตร H22A 200 แรงม้า ที่ 7000 รอบ/นาที แต่เฉพาะในญี่ปุ่น มีการผลิตฮอนด้า พรีลูด Type R ซึ่งเป็นเครื่องที่แรงเป็นพิเศษ กล่าวคือ เป็นแบบ หัวฉีด VTEC DOHC ฝาแดง ความจุ 2.2 ลิตร H22A 223.1 แรงม้า ที่ 7200 รอบ/นาที และให้ทอร์ก 221 นิวตันเมตร ที่ 6500 รอบ/นาที ถือเป็นแรงที่มากสำหรับเครื่องที่มีความจุเท่ากัน โดยที่ไม่ได้ใช้ระบบอัดอากาศ (เทอร์โบ) แต่อย่างใด และไม่มีขายในประเทศไทย ฮอนด้า พรีลูด รุ่นปีสุดท้าย คือ รุ่นปี พ.ศ. 2544 และฮอนด้า พรีลูด คันสุดท้าย ผลิตใน พ.ศ. 2545 แล้วเลิกผลิตไป เนื่องจากไม่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเท่าที่ควร เพราะในช่วงนั้นถือเป็นยุคสิ้นความนิยมในรถสปอร์ตคูเป้แล้ว ทำให้ผู้ผลิตรายต่างๆ เช่นโตโยต้า นิสสัน มิตซูบิชิ รวมถึงฮอนด้าต้องเลิกผลิตรถสปอร์ตคูเป้ไป ถือเป็นการปิดตำนานรถสปอร์ตขนาดเล็กของฮอนด้าไปตั้งแต่บัดนั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย